การบริหารจัดการของเสียและบรรจุภัณฑ์

โออิชิได้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลและลดขยะมูลฝอยในธุรกิจ กระบวนการผลิต และผู้บริโภค เพื่อตอบสนองเป้าหมายการกำจัดของเสียอย่างยั่งยืนของกลุ่มบริษัทไทยเบฟในการมุ่งสู่การทำให้การสูญเสียทางอาหารและขยะอาหารที่ถูกทิ้งลงไปยังบ่อฝังกลบกลายเป็น 0 หรือ Zero waste to landfill ในปี 2030 โดยโออิชิได้กำหนดกรอบกลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ได้แก่ การลด ควบคุม และนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ ภายใต้การดำเนินการด้านความยั่งยืนที่มุ่งลด ควบคุม และใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร บริษัทได้ดำเนินการโครงการเพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว ผ่านโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนี้

(1) โครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเสีย
- โครงการรักษ์อาหาร
การดำเนินงาน : บริษัทร่วมสนับสนุนโครงการ “รักษ์อาหาร” ของ “มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์” (SOS Thailand) นำอาหารที่เหลือจากการใช้งานซึ่งเป็นอาหารที่ยังรับประทานหรือปรุงประกอบได้ เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ปูอัด ลูกชิ้น ผัก ผลไม้ และอาหารทอดจากร้านอาหารในเครือโออิชิ จำนวน 3 ร้าน ประกอบด้วย ร้านชาบูชิ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว, ร้านชาบูชิ สาขาสามย่านมิตรทาวน์ และร้านโออิชิ อีทเทอเรียม สาขาสามย่านมิตรทาวน์ โดยมีฝ่ายประกันคุณภาพของโออิชิ (QA) จัดทำวิธีเก็บอาหารสำหรับการบริจาคดังกล่าวเพื่อให้ยังคงคุณภาพ พร้อมอบรมและให้ความรู้แก่พนักงานของแต่ละสาขาที่ร่วมโครงการ เพื่อส่งต่ออาหารที่ยังคงคุณภาพและมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคให้มูลนิธิได้นำไปช่วยเหลือชุมชนต่างๆ โออิชิ ในฐานะภาคธุรกิจไทยที่เป็นผู้ผลิตอาหารและให้บริการร้านอาหาร จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา

ผลงาน : โออิชิสนับสนุนโครงการรักษ์อาหารมาตั้งแต่ปลายปี 2563 และเตรียมขยายการสนับสนุนจากสาขาอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต โดยปริมาณอาหารที่บริจาคตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึง สิงหาคม 2564 รวมเป็นจำนวน 553.44 กิโลกรัม เท่ากับมื้ออาหาร 2,198 มื้อ รวมมูลค่า 51,840.90 บาท

- โครงการ #กินหมดเกลี้ยง Challenge
การดำเนินงาน : โออิชิจัดโครงการ #กินหมดเกลี้ยง Challenge ผ่านร้านอาหารชาบูชิจำนวนรวม 156 สาขา ทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันลดขยะอาหารซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดต้นทุนให้กับร้านได้อีกด้วย โดยมีรูปแบบกิจกรรม คือ ทางร้านจะเชิญชวนลูกค้าเข้าร่วมโครงการ โดยลูกค้าสามารถทานได้ไม่จำกัดปริมาณเช่นเดิม แต่ต้องทานให้หมดเกลี้ยง จึงถือว่าเป็นผู้ชนะในแคมเปญ โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นคูปองส่วนลด 50 บาทสำหรับใช้บริการในครั้งต่อไป

ผลงาน : มีลูกค้าจำนวนประมาณ 140,000 คน ที่มาใช้บริการในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2564 เข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยกันลดขยะอาหาร

- การรีไซเคิลน้ำมันพืชเก่าจากการประกอบอาหาร
การดำเนินงาน : บริษัทนำน้ำมันพืชเก่าที่ได้จากการปรุงประกอบอาหารที่ร้านอาหารในเครือโออิชิและจากโรงงานโออิชิ ฟู้ด เซอร์วิส ไปจำหน่ายให้กับบริษัทคู่สัญญาที่ได้รับรองมาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้ว โดยจะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นไบโอดีเซลหรืออาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมดจะถูกนำไปใช้งานอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฏหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร

ผลงาน : ส่งต่อน้ำมันพืชเก่าที่ผ่านการใช้งานแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2564 ปริมาณประมาณ 98,712 กิโลกรัม นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่จะแปรสภาพให้ใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ต่อไป

- การทำสารปรับปรุงดิน
การดำเนินงาน : โรงงานโออิชิ ฟู้ด เซอร์วิส (ครัวกลาง) นำเศษผักที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาหมักด้วยวิธีธรรมชาติจนได้สารปรับปรุงดินเพื่อนำไปใช้บำรุงต้นไม้ภายในบริเวณโรงงาน และมอบให้แก่โรงเรียนบ้านหนองชาก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับครัวกลางโออิชิ นำไปใช้บำรุงแปลงผักที่ปลูกไว้เป็นอาหารกลางวัน

ผลงาน : นำเศษผักของเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนกันยายน 2564 ปริมาณรวม 6,476 กิโลกรัม ไปทำสารปรับปรุงดิน นับเป็นการใช้ทรัพยากรอาหารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เกิดคุณค่า และลดค่ากำจัดขยะให้กับโรงงานด้วย

- การนำกากชาไปใช้ประโยชน์
การดำเนินงาน : โรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิสามารถส่งต่อกากชาให้กับบริษัทคู่สัญญาที่ได้รับรองมาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการจัดการกากชานำไปใช้ให้เกิดประโยชย์

ผลงาน : โรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิ อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ส่งต่อกากชาปริมาณ 1,945,765 กิโลกรัมให้บริษัทดังกล่าวนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่โรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิในเขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ส่งต่อกากชาปริมาณ 1,855,988 กิโลกรัม ให้บริษัทดังกล่าวนำไปทำเป็นสารปรับปรุงดิน


(2) การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์
ปัจจุบัน การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อความสวยงามภายนอกเท่านั้น หากยังต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ ในการเลือกวัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ โออิชิจึงให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังคำนึงถึงการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาใช้ซ้ำ (Re-use) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในทุกกลุ่มธุรกิจ อาทิ

ธุรกิจอาหาร : ร้านอาหารโออิชิและอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะ ปรับปรุงการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนด้านบรรจุภัณฑ์ 4 มิติ ได้แก่
(1) ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
(2) ลดปริมาณการใช้พลาสติกผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์
(3) ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ
(4) ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลูกค้าสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)

จากการปรับปรุงดังกล่าว ส่งผลให้การดำเนินการด้านบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ ในปี 2564 ของร้านอาหารในเครือโออิชิและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะ สามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้ 100% และจากแนวทางดังกล่าว ร้านอาหารโออิชิสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง 3.46 ตัน จากการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

- เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้แก่ ถุงผ้า พร้อมระบุสัญลักษณ์ Recycle ลงบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคที่ใช้งานได้รับทราบข้อมูล
- ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Polylactic Acid – PLA) เช่น ถ้วยไอศครีม แก้วน้ำ ฝา หลอด และช้อนของร้านโอโยกิ (OYOKI)
- ศึกษาการใช้หลอดกระดาษเพื่อทดแทนหลอดพลาสติก เพื่อเป็นทางเลือกในกรณีกฎหมายบังคับใช้ในปี 2565 ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะ ก็ปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนด้านบรรจุภัณฑ์ ลดปริมาณการใช้พลาสติกจากการดำเนินการดังนี้
- การลดความหนาชั้นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ของอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานโออิชิ อีทโตะ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ราเมนแช่แข็งสามารถลดความหนาของชั้นฟิล์ม LLDPE ได้ครบ 100%
- บรรจุภัณฑ์ของโออิชิ อีทโตะ กลุ่มแซนวิชแช่เย็นใช้ฟิล์มประเภทพลาสติกเดี่ยว (Mono-material) เพื่อสามารถนำไปย่อยสลายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแยกชนิดฟิล์ม ช่วยลดขั้นตอนและลดการใช้พลังงานในการแยกชนิดฟิล์ม

ธุรกิจเครื่องดื่ม : นอกจากมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องดื่มชาเขียวที่มีคุณภาพแล้ว โออิชิยังพัฒนา บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดปริมาณพลาสติก โดยดำเนินการดังนี้

- ปรับลดน้ำหนักพรีฟอร์ม : ขวดพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์หลักของเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ โดยมี พรีฟอร์มเป็นวัตถุดิบในการเป่าขึ้นรูปขวด แบ่งเป็น 2 ขนาด ได้แก่ (1) พรีฟอร์มน้ำหนัก 17 กรัม ใช้เป่าขวดพลาสติกขนาด 350 มิลลิลิตร และ 380 มิลลิลิตร (2) พรีฟอร์มน้ำหนัก 18.5 กรัม ใช้เป่าขวดพลาสติกขนาด 500 มิลลิลิตร ซึ่งแต่ละปีโออิชิใช้พรีฟอร์มจำนวนมากกว่า 567 ล้านชิ้นต่อปี ประกอบด้วยพรีฟอร์มน้ำหนัก 17 กรัม จำนวนประมาณ 317 ล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณ 55% และพรีฟอร์มน้ำหนัก 18.5 กรัม จำนวนประมาณ 188 ล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณ 33% ของปริมาณพรีฟอร์มทั้งหมด ดังนั้นการลดน้ำหนักของ พรีฟอร์มจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดปริมาณพลาสติก

ปี 2564 โออิชิประเมินยอดสั่งซื้อพรีฟอร์มน้ำหนัก 17 กรัม จำนวนมากถึง 317,280,000 ชิ้น โออิชิจึงเริ่มโครงการทดลองลดน้ำหนักพรีฟอร์ม จาก 17 กรัม เหลือ 15.89 กรัม สำหรับขวดขนาด 350 มิลลิลิตร และ 380 มิลลิลิตร และจาก 18.50 กรัม เหลือ 18.16 กรัม สำหรับขวดขนาด 500 มิลลิลิตร และหากการทดลองลดน้ำหนักพรีฟอร์มเหลือ 15.89 กรัมสำเร็จ ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 60,280,000 บาท แต่เนื่องด้วยพลาสติกในตลาดโลกราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 12,690,000 บาท ส่วนผลลัพธ์ในเชิงสิ่งแวดล้อม หากคำนวณจากการใช้พรีฟอร์มน้ำหนัก 17 กรัม จะส่งผลให้มีปริมาณการใช้พลาสติกประมาณ 5.4 ล้านกิโลกรัม ซึ่งถ้าเทียบกับพรีฟอร์มน้ำหนัก 15.89 กรัม จะลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ประมาณ 352,000 กิโลกรัม ซึ่งคาดการณ์ว่าโครงการทดลองใช้พรีฟอร์มน้ำหนัก 15.89 กรัม จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565

- พัฒนาฉลากจากวัสดุ PET: ในปี 2564 โออิชิได้ศึกษาและทดลองใช้ฉลาก PET ในสายการผลิต CAF1 สำหรับชาเขียวโออิชิรสข้าวญี่ปุ่น ขนาด 500 มิลลิลิตร แทนฉลากที่ผลิตจากพลาสติกชนิด PVC เนื่องจากพลาสติกชนิด PET มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกชนิด PVC และพลาสติกชนิด PET ยังสามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้อีกด้วย แต่ในด้านการใช้งาน พลาสติกชนิด PET ยังมีข้อจำกัด เพราะหดตัวสูง เหมาะสำหรับขวดโค้งที่ตัวขวดมีขนาดแตกต่างกันระหว่างลำตัวขวดและคอขวด ดังนั้นโออิชิจึงรอผลการศึกษาและทดลองที่แม่นยำก่อนที่จะนำไปใช้ในอนาคต


- เปลี่ยนขวดชาเขียวโออิชิกลิ่นองุ่นเคียวโฮสีม่วงเป็นขวดใส: ในช่วงต้นปี 2563 บริษัทเริ่มปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชาเขียวโออิชิกลิ่นองุ่นเคียวโฮ โดยเปลี่ยนจากขวด PET แบบมีสีเป็นขวด PET แบบใส เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาประมาณการได้ว่าสามารถเพิ่มปริมาณขวด PET ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) จำนวนประมาณ 69 ล้านขวด อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการเติมสีม่วงในกระบวนการผลิตขวดได้ถึงปีละ 1.7 ล้านบาท