การบริหารจัดการน้ำ

น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสำหรับธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โออิชิ จึงมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุง การบริหารทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจและลดความเสี่ยงในการขาดแคลนทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ โออิชิ ยังปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมาย มีระบบมาตรฐานสากลในการกำกับดูแลและตรวจสอบความถูกต้องของการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ รวมถึงควบคุมมาตรฐานการปล่อยน้ำทิ้งจนมีคุณภาพดีกว่ามาตรฐานที่กำหนด ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญ โออิชิ ยังวางเป้าหมายคืนน้ำสู่ธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 100 ของปริมาณน้ำในสินค้าสำเร็จรูป ภายในปี 2583 ตามเป้าหมายการบริหารจัดการน้ำของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ในปี 2565 โออิชิ บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

โรงงาน แนวทางการบริหารจัดการ ผลลัพธ์ ปี 2565
โรงงานผลิตเครื่องดื่ม เขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี (สายการผลิต CAF, UHT, HF)ปรับปรุงติดตั้งระบบจัดเก็บน้ำที่ผ่านอุปกรณ์ตรวจวัด และน้ำที่เหลือจากการกรองด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ระบายความร้อนในระบบทำความเย็นลดปริมาณน้ำ 91,030 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
โรงงานผลิตเครื่องดื่ม เขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรีปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำดื่มให้สามารถผลิตสินค้าได้ต่อเนื่องยาวนานมากขึ้น ช่วยลดความถี่การทำความสะอาดโดยไม่ต้องถอดชิ้นส่วน (Cleaning in Place)ลดปริมาณน้ำ 581 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
โรงงานโออิชิ ฟู้ด เซอร์วิส (ครัวกลาง) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรีปรับปรุงติดตั้งระบบนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วนำกลับมาใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ลดปริมาณน้ำ 39,353 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

โออิชิ ได้รับใบประกาศเกียรติคุณการรับรองการตรวจประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานการรับรองวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (WFP) จากสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำหรับผลิตภัณฑ์ชาเขียวญี่ปุ่น โออิชิ กรีนที รสน้ำผึ้งผสมมะนาว ขนาด 380 มิลลิลิตร จากการประเมินปริมาณ
การใช้น้ำในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อาหารอย่างเหมาะสมและผ่านการประเมิน และรับรองค่าฟุตพริ้นท์การขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity Footprint)

นอกจากนี้ โออิชิยังได้เริ่มทำการศึกษาความเป็นได้ในการนำน้ำที่ผ่านการใช้แล้วมาทำการบำบัด โดยแบ่งน้ำที่ผ่านการใช้แล้วออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Black เป็นน้ำที่เมื่อทำการบำบัดแล้ว สามารถปล่อยออกสู่ภายนอกได้ตามมาตรฐาน กลุ่ม Brown เป็นน้ำที่เมื่อทำการบำบัดแล้ว สามารถนำกลับเข้าไปใช้ในขั้นตอนการผลิตส่วนต่างๆ ได้ และกลุ่ม Yellow เป็นน้ำที่เมื่อทำการบำบัดแล้ว สามารถนำกลับมาใช้ในการบริโภคได้ รวมถึงมองหาแนวทางที่จะลดการใช้น้ำลงในขั้นตอนการผลิตต่างๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้